โรงงาน เอส พี เซรามิค
ก่อร่างสร้างตัว
แดนเกิดเป็นลูกคนโตของคุณพ่อชื่อ พินิจ ศิริวัฒนกุล คุณพ่อหลังจากเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ตามคุณปู่ นายเผชิญ ศิริวัฒนกุล ขึ้นมาซึ่งตอนนั้นคุณปู่ขึ้นมาทำเหมืองแร่ดินขาวในอำเภองาวในช่วงปี 2530 ด้วยความที่คุณพ่อสังเกตเห็นว่า ตลาดเซรามิกในตอนนั้น มีแต่โรงงานที่ทำจานเซรามิก Tableware, Dinnerware และเป็นแนว Blue and White ทั้งนั้น
คุณพ่อจึงมีความคิดว่า แล้วทำไมเราไม่ทำอย่างอื่นที่มันแปลกต่าง ๆ จากที่มีในตลาดปัจจุบันละ? คุณพ่อจึงริเริ่มก่อสร้าง โรงงาน เอส พี เซรามิค ขึ้นมา
เริ่มออกงานเซรามิกส์แฟร์ ปี พ.ศ. 2536
คุณพ่อจึงออกแบบผลิตภัณฑ์ตุ๊กตา เซรามิก รูปสัตว์ต่าง ๆ โดยเริ่มจากสไตล์ที่ตัวเองถนัดเลยก็คือ การปั้นรูปเหมือน โดยสมันนั้น ได้ปั้นรูปม้า และวัว หลังจากนั้นก็ส่งไปทำเป็น โมเดลรถม้าลำปาง และวัวเทียมเกวียน ในขณะเดียวกันคุณพ่อก็เริ่มออกงานแสดงสินค้าภายในประเทศทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ เช่น งานเซรามิกส์แฟร์ และงาน Bangkok International Gift Fair หรืองาน BIG หรือที่เรารู้จักในปัจจุบันคืองาน Styles นั่นเอง
รูปผลิตภัณฑ์ในช่วงเริ่มต้นโรงงาน
วิกฤตต้มยำกุ้ง
ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยก็ได้มีการลอยตัวค่าเงินบาทขึ้น ทำให้เราได้มีโอกาสในการส่งออกที่มากขึ้น มีลูกค้าแบรนด์ใหญ่ ๆ ระดับโลกมากมายเข้ามาติดต่อเราเพื่อต้องการจ้างให้เราผลิตผลิตภัณฑ์ให้เขาส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ฮ่องกง และออสเตรเลีย ซึ่งเราก็เพลิดเพลินกับการรับจ้างผลิตอย่างมาก กิจการขยายตัวเป็นอย่างมาก แปลงสภาพจากโรงงานเป็น บริษัท เอส พี เซรามิค ค็อลเลคชั่น จำกัด แต่แล้วงานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกลา…
จีนเข้าสู่ WTO ตลาดการค้าโลกเข้าภาวะไม่แน่นอน และวิกฤตทางการเมืองของประเทศไทย
ช่วงประมาณปี 2544 ประเทศจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้เศรษฐกิจของจีนผสมผสานเข้ากับเศรษฐกิจโลก ประกอบกับประเทศจีนซึ่งมีค่าแรงที่ต่ำกว่าเรา ทำให้ลูกค้าที่เราค้าขายอยู่บางส่วนย้ายคำสั่งซื้อจากเราไปสู่โรงงานในประเทศจีน
ในปี 2550 ประเทศสหัฐอเมริกาได้เกิด วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ ขึ้น และในปีเดียวกันนี้ประเทศไทยได้เกิดความไม่สงบทางการเมืองขึ้น ทำให้เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจของเราประสบปัญหาจากการส่งออกที่ยากขึ้น
จนด้ายเส้นสุดท้ายก็ได้ขาดลงในปี 2558 เกิดรัฐประหารขึ้น เป็นเหตุในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปใช้เป็นข้ออ้างในการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้า หรือ GSP ทำให้ลูกค้ามีต้นทุนในการนำเข้าสินค้าที่มากขึ้น ลูกค้าจึงหันไปสั่งซื้อสินค้าในประเทศอื่นทดแทน
แต่เนื่องด้วยตลอดการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา เรายังคงจุดยืนที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง มีมาตรฐาน ความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ในราคาที่เหมาะสม เราจึงยังคงมีลูกค้าบางส่วนที่สั่งซื้อสินค้ากับเราอยู่ ในขณะเดียวกันเราก็มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด นั้นคือการไม่มีตัวตนในทางการตลาด ทำให้เราจึงเริ่มจดเครื่องหมายการค้า หรือ แบรนด์ชื่อ “พินิยา” ซึ่งเป็นชื่อของคุณพ่อกับคุณแม่มารวมกัน และทำตลาดโดยใช้แบรนด์นี้ตลอดมา แล้วเราก็สร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาทำตลาดอยู่เรื่อย ๆ
พลิกฟื้นและก้าวต่อไป…ด้วยกัน
หลังจากที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ในเพื่อวางแผนเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตแล้ว เรายังไม่หยุดเรียนรู้ที่จะสร้างพันธมิตรทางการค้า และการผลิตที่มีอุดมการณ์ร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตทางธุรกิจในท้องถิ่นของเราที่เราอยู่ต่อไป