วิกฤตชามตราไก่ จากมุมมองผู้บริหาร

Kai-Oo-Ceramic

จากที่ได้เป็นข่าวใหญ่กันตามน่าสื่อดังของประเทศไทยไป เรื่อง วิกฤตชามตราไก่ ของอุตสาหกรรมเซรามิกจังหวัดลำปาง อ้างอิง

ซึ่งวันนี้แดนจะขอนำเสนอที่มาที่ไป ข้อมูล และปัญหา จากมุมมองของผู้บริหารบริษัทเซรามิกของลำปาง ถ้างั้นเรามาเริ่มกันเลยครับ

ถ้าหากใครสงสัยว่า แดนเป็นใครมาจากไหน? รบกวนอ่านต่อในบทความ แดน กับโรงงานเซรามิกของครอบครัว

รากของปัญหา

การต้นทุนของการเข้าตลาดต่ำสู่วงจรอุบาทว์

อุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางมีต้นทุนของการเข้าตลาดต่ำ ทำให้ชาวบ้านที่เคยเป็นพนักงานในโรงงานเซรามิก เรียนรู้วิธีการผลิตแล้ว ก็นำวิทยาการแบบครูพักลักจำ ไปสร้างโรงงานขึ้นมา ในยุคนึงเราจึงเห็นโรงงานเซรามิกผุดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด มีโรงงานเซรามิกมากถึง 300-400 โรงงานทั่วจังหวัดลำปาง ซึ่งแน่นอนว่า มันจึงเกิดปัญหาตามมาดังนี้

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ชาวบ้านที่ออกมาเปิดโรงงานใหม่ก็จะนำเอาแบบสินค้าที่ตนเองเห็นแล้วออกมาผลิตเอง ทั้งแบบสินค้า และลวดลายบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบบผลิตภัณฑ์ และลวดลายต่าง ๆ ที่โรงงานใหญ่ ๆ คิดค้นมานั้นต่างมีต้นทุนที่สูง เนื่องจากมีค่าแรงงานของนักออกแบบ นักการตลาดที่ต้องออกไปวิจัยตลาด และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ไหนจะต้องเสียเวลาช่วงออกแบบ และการผลิตอีก ซึ่งมาถึงจุด ๆ นี้ ทุกคนอาจจะบอกว่า เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์ ใช่ครับ! ประเทศไทยเรามีกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ว่าด้วยเกี่ยวกับรูปปั้น แค่โรงงานเล็ก ๆ เอาไปทำซ้ำด้วยการเอียงคอเพียงเล็กน้อย กฎหมายลิขสิทธิ์ก็พร้อมที่จะไม่คุ้มครอง เรื่องนี้ผมเคยปรึกษากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว กรมฯ ช่วยอะไรไม่ได้เลย ธุรกิจครอบครัวของแดนโดนละเมิดหนัก หนักมาก ๆ จนคุณพ่อท้อถอดใจไม่อยากออกแบบแล้ว เพราะออกแบบออกมาขายดี ก็โดนละเมิดทรัพย์ทางปัญญาหมด คนคิดมันเหนื่อยครับ

การทุ่มราคา

ชาวบ้านที่ออกมาเปิดโรงงานเองแต่ ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการตลาดเลย แต่เมื่อผลิตสินค้าสู่ตลาดแต่ไม่มีคนซื้อเพราะ มีผู้เล่นหลักอยู่แล้วผู้เล่นรายใหม่ต้องการเข้าสู่ตลาดจะทำอย่างไร? แน่นอนว่า ก็ต้องลดราคาถูกไหม? แล้วยิ่งถ้าไปละเมิดลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์มาด้วยต้นทุนยิ่งต่ำ ก็จะมีความสามารถลดราคาลงจนต่ำมาก พอลดราคาลงผู้เล่นเดิมในตลาดก็ลดราคาตาม มันเลยทุกให้ราคาตลาดของเซรามิกโดยรวมมันยุบตัวลง เพราะตอนนี้ผู้บริโภครู้แล้วว่า ต้นทุนมันถูก โดยธรรมชาติของคนไทยก็จะเกิดการต่อราคา ซึ่งการต่อราคา = การกดราคา พอโดนกดราคามาก ๆ เข้ามันก็ทำให้กิจการต่าง ๆ ไม่มีเงินทุนมาพัฒนาสินค้า พัฒนาธุรกิจต่อ ทำให้ตลาดเซรามิกในประเทศไทยไม่ค่อยมีสินค้าใหม่ ๆ ไม่มีนวัตกรรมออกมาวางขาย

มันเป็นไปได้อย่างไร? เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกปี 1-3% แต่ราคาสินค้าไม่เคยขึ้นตามเลย

นวัตกรรม

แน่นอนครับ เงินทุนคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ถ้าขาดเงินทุนก็ไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ทำให้เซรามิกเบา และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงได้

หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในการขยายตลาดก็มีเพียงบางกิจการที่ทำกันเท่านั่น

โอกาส

เมื่อมีใครให้โอกาสแดนคว้าหมด คว้าอันที่แดนไปไหว แต่โครงการปั้นแบรนด์ใหญ่ ๆ ของกรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ แดนเคยสมัครเข้าไป ได้แต่ไปนั่งฟังรอบแรก รอบ 2 ไม่เคยได้ เหมือนเอาเราไปถ่ายรูปสร้างภาพ แล้วกรรมการ และที่ปรึกษาโครงการ ก็จะอ้างว่า แบรนด์น้องยังไม่แข็งบ้างล่ะ ก็แบรนด์เราไม่แข็งไง เลยพยายามเข้าหาท่านเพื่อหาโอกาสขอโอกาส แต่ท่านก็ปฏิเสธเรามาโดยตลอด

วัฒนธรรมราชการไทย

เดี๋ยวคอยดูนะ กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ต้องออกมาตามสคริปนี้แน่นอน “ตลอดมา กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ กรมมีมาตรการเยียวยาทางการค้าหลายมาตรการ ได้นำมาใช้ดำเนินการกับสินค้านำเข้าแล้ว เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่ม (เอดี) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน หรือมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด)” มาแนวนี้ค่อยดู แล้วด้วยความเคารพนะครับท่าน 10 ปีที่แล้ว ตอบยังไง? ผ่านมา 10 ปีก็ตอบอย่างงั้น? ตอบแบบปัด ๆ ไป แต่ทำไมของยังเกลื่อนล่ะครับ? ถ้าทำจริง ส่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็จะออกมาแนว ๆ ใครมีหลักฐานว่า “บริษัทนี้เป็นบริษัทต่างด้าว ส่งหลักฐานมาเดี๋ยวไปตรวจสอบ” สุดท้ายแล้วก็บอกว่า บริษัทที่ไปตรวจสอบไม่เป็นบริษัทต่างด้าว เพราะคนไทยถือหุ้นหมด

แรงงาน

หลังจากโดนกดราคาแล้ว กิจการไม่มีเงินทุนมาพัฒนาธุรกิจ พอไม่มีเงินทุนมาพัฒนาธุรกิจ ค่าจ้างแรงงานก็ไม่ค่อยขึ้น พอค่าแรงไม่เติบโต แรงงานรุ่นใหม่ก็หนีไปทำงานในอุตสาหกรรมอื่นหมด แล้วยิ่งซ้ำร้าย อุตสาหกรรมเซรามิกถูกจัดอยู่ในอุตสาหกรรมประเภท

3D คือ Dirty, Difficult, Dangerous

อยู่กับดินสกปรกเลอะเทอะ ทำไปกว่าจะฝึกฝนให้ชำนาญค่าแรงก็น้อย แถมเครื่องมือบางอย่างก็อันตราย มันไม่มีแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน

เอาตรง ๆ ทุกวันนี้จ้างถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำกันไหม?

ทุกวันนี้ ผมเดินตลาดนัดจตุจักรเห็นเซรามิกวางขายตามร้านต่าง ๆ เดินเข้าไปถามราคาขายก็รู้แล้ว จ้างไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำ แต่ที่โรงงานเงียบ ๆ ก็เพื่อโรงงานอยู่ได้ และพนักงานก็ยังมีงานทำอยู่ ก็อยู่ ๆ กันไป

การเงิน และการบัญชี

หากเราเรียนบริหารธุรกิจ มักจะถูกสอนอยู่เสมอว่า การเงินที่มีสภาพคล่องสูง และการบัญชีที่แม่นยำ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ซึ่งแน่นอนว่า โรงงานเล็กที่เกิดขึ้นนั้นมาจากชาวบ้าน ทำให้ไม่มีรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงินและการบัญชี พอไม่รู้เรื่องนี้แล้ว บวกการทุ่มตลาดเรื่อย ๆ ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้การเงินติดลบ

พอการเงินติดลบโดยไม่รู้ตัวก็เริ่มมีความรู้สึกชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือที่เราเรียกกันในเชิงธุรกิจคือ “ขาดสภาพคล่องทางการเงิน” พอขาดสภาพคล่องทางการเงินก็จะพยายามหาเครื่องมือทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ และแน่นอนว่า เมื่อเราจะกู้ธนาคาร จนธนาคารไม่ให้กู้แล้ว โรงงานต่าง ๆ ก็จะใช้เครื่องมือทางการเงินนอกระบบ คือ “หนี้นอกระบบ”

การเมือง

การเมืองในระดับประเทศ

ตั้งแต่ผมเกิดมา ประเทศไทยเรามีปฏิวัติทางการเมืองเฉลี่ยทุก ๆ 10 ปี แล้วครั้งที่เจ็บที่สุดคือ ปี 2558 ตอนนั้นประเทศไทยกำลังเจรจาเขตการค้าเสรี Thai-EU ซึ่งเป็นความหวัง ลูกค้ายุโรปหลาย ๆ คนที่เราค้าขายกันอยู่รอคอย พอเกิดปฏิวัติเท่านั้นแหละ ลูกค้าหนีกระเจิง จนตอนนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว มีข่าวว่า การเจรจาเดินหน้าต่อแล้ว เราก็หวังว่า มันจะเจรจาเสร็จเร็ว ๆ นี้

การเมืองในระดับกิจการ

การรวมกลุ่มสมาคม คลัสเตอร์ ชมรม หรือกิจการร่วมค้าต่าง ๆ ของเซรามิคลำปางก็เกิดอย่างหลวม ๆ เพื่อมีพลังอำนาจในการต่อรองเรื่องต่าง ๆ ซึ่งพอท้ายที่สุดแล้วเมื่อเสร็จเป้าหมายตามที่จุดประสงค์ที่กลุ่มตั้งขึ้นแล้ว กลุ่มนั้นก็จะสลายไป ซึ่งมีน้อยมาก ๆ ที่จะยังรวมกันอยู่อย่างแน่นแฟ้น ทำให้เรายากที่จะเห็นกิจการโรงงานหลาย ๆ กิจการมารวมกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการค้า

จากปัญหาสู่การแก้ปัญหา

ถ้าพูดกันอย่างตรง ๆ และอาจจะฟังดูเลวร้ายก็คือ ให้ธรรมชาติคัดสรร เพราะผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่ปรับตัว แต่ถ้าให้พูดตรง ๆ เลย

ผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการต้องหยุด หยุดลดราคาทุ่มตลาด หยุดละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าของผู้ประกอบการอื่น พัฒนาทักษะด้านวิชาการ และการค้า และพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด และหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกลุ่ม ร่วมกิจการ เพื่อสร้างกิจการที่แข็งแกร่งมากขึ้น สร้างอำนาจในการต่อรองพ่อค้าคนกลาง หรือโอกาสในการตลาดที่มากขึ้น เรื่องแรงงาน เมื่อมีการเงินที่ดีค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะเป็นแรงจูงใจให้กลับมาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป หรือทางออกสุดท้ายก็อาจจะต้องเป็นแรงงานต่างชาติ ส่วนตัวแดน แดนพร้อมที่จะคว้าโอกาสเสมอ ผู้ใหญ่ท่านหยิบยื่นมาให้รับหมดครับ เพราะแดนมี passion ตรงนี้เสมอ

รัฐบาล และกฎหมาย

รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้เมื่อมีผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายสามารถลงโทษผู้ละเมิดได้ ทำให้ไม่เกิดการละเมิดอีก

เร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรีกับนานาประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาการค้าของประเทศไทยที่มากขึ้น

คนไทย

  1. หยุดต่อราคา เพราะการต่อราคา คือการกดราคา มันคือการตัดโอกาสการพัฒนาธุรกิจ
  2. ชาตินิยม คือ ส่งเสริม และใช้สินค้าไทย